Research and Development

        จากปณิธานของบริษัท ทีเอ็นอาร์ ไบโอไซเอินซ์ จำกัด (TNRBio) ที่ต้องการสร้างมาตรฐานให้แก่อุตสาหกรรมสารสกัดจากพืชกัญชงของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของอุตสาหกรรมกัญชง เพื่อพัฒนาศักยภาพในทุกด้านของวงจรธุรกิจกัญชงไทย

 

ต้นน้ำ: พัฒนาสายพันธุ์และกระบวนการปลูกพืชกัญชงในประเทศไทย

        TNRBio และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 เพื่อสนับสนุนทุนการวิจัยมากกว่า 30 ล้านบาท ในการสร้างศูนย์ทดสอบ วิจัย และพัฒนากัญชงอุตสาหกรรม เพื่อทดลองและพัฒนาพืชกัญชง โดยมีจุดประสงค์หลักแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ

1. ค้นหาและพัฒนาสายพันธุ์

        TNRBio มีเป้าหมายที่จะค้นหาและพัฒนาสายพันธุ์พืชกัญชงที่เหมาะแก่การปลูกในภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ และรองรับความต้องการของสารสกัด CBD ของตลาดโลกที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

        โดยในการทดลองระยะที่ 1 ได้มีการจัดหาเมล็ดพันธุ์ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 20 สายพันธุ์ เพื่อนำมาทดลองปลูกทั้งแบบ ปลูกกลางแจ้ง และปลูกในโรงเรือน เพื่อทดสอบความเหมาะสมในการเติบโต รวมถึงคุณภาพผลผลิตช่อดอก ที่ต้องให้น้ำหนักมากต่อต้น และค่า %CBD สูง ในขณะที่ค่า %THC ต่ำกว่า 1% มีความเหมาะสมแก่การนำไปสกัดเป็นสารสกัด CBD ซึ่งทางศูนย์ฯ จะคัดเลือกสายพันธุ์ที่โดดเด่น เพื่อนำมาพัฒนากระบวนการปลูกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

        แผนการทดลองระยะที่ 2 และ 3 มีการวางแผนเพิ่มพื้นที่การทดลองเพาะปลูกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคใต้ เพื่อสรรหาสายพันธุ์และวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่

2. พัฒนากระบวนการเพาะปลูก

        TNRBio สนับสนุนแนวคิดของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการศึกษาและพัฒนากระบวนการเพาะปลูกพืชกัญชงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตช่อดอกที่มีค่า %CBD สูงสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมโรงงานสกัด โดย TNRBio สนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่ปลูกและพื้นที่ใช้สอยภายในศูนย์ทดสอบ วิจัย และพัฒนากัญชงอุตสาหกรรม ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่กว่า 4,800 ตารางเมตร รวมถึงงบประมาณผูกพันเป็นระยะเวลา 5 ปี รวมกว่า 30 ล้านบาทสำหรับการศึกษาวิจัย

        ศูนย์ทดสอบ วิจัย และพัฒนากัญชงอุตสาหกรรม เริ่มต้นการปลูกในฤดูกาลที่ 1 แบบกลางแจ้งในเดือน พฤศจิกายน 2564 โดยเลือกใช้สายพันธุ์จากต่างประเทศ 3 สายพันธุ์ จำนวนรวม 2,800 ต้น เพื่อศึกษาและพัฒนาขั้นตอนการปลูกที่เหมาะกับสภาวะอากาศของไทย เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ด การเพาะต้นกล้า การดูแลก่อนและหลังออกช่อดอก จนถึงเทคนิคการเก็บเกี่ยว และการอบแห้ง เพื่อให้ได้ผลผลิตช่อดอกกัญชงตามมาตรฐานโรงงานสกัดของ TNRBio

        ผลการทดลองในฤดูกาลที่ 1 ได้สายพันธุ์ดีที่สุดที่ให้ผลผลิตคุณภาพสูง กล่าวคือ ปริมาณช่อดอกแห้งเฉลี่ยต่อต้นสูงกว่า 400 กรัม และมีค่า %CBD เฉลี่ยสูงถึง 18% 

        การทดลองฤดูกาลที่ 2 เริ่มต้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 และฤดูกาลที่ 3 เริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคม 2566 โดยมีเป้าหมายให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูงขึ้น โดยค่าใช้จ่ายในการปลูกต่อต้นที่ลดลง

3. ส่งต่อองค์ความรู้

        TNRBio มีความตั้งใจที่จะส่งต่อองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัย และพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในเรื่องของเทคนิคและกระบวนการปลูกพืชกัญชงที่มีประสิทธิภาพให้แก่วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และผู้สนใจในการเพาะปลูกพืชกัญชงในระดับอุตสาหกรรม

"การส่งต่อองค์ความรู้นี้ เป็นหนึ่งในเป้าหมายเพื่อช่วยผลักดันให้พืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง"

       

นอกจากนี้ TNRBio ยังสร้างอาคารอบแห้งชิ้นส่วนกัญชงพร้อมติดตั้งเครื่องอบแห้งขนาด 300 และ 1,000 กิโลกรัม ไว้ภายในศูนย์ทดสอบ วิจัย และพัฒนากัญชงอุตสาหกรรม ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อให้บริการอบช่อดอกให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย


กลางน้ำและปลายน้ำ: พัฒนากระบวนการผลิตและต่อยอดผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชง

        TNRBio มุ่งมั่นพัฒนาในทุกกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้สารสกัดจากกัญชง ในรูปแบบของ CBD Distillate Full-Spectrum, CBD Isolate รวมถึง CBD Water-Soluble คุณภาพสูง อันเป็นที่ต้องการของตลาด

        นอกจากสินค้าสารสกัดแล้ว แผนก R&D ของ TNRBio ยังร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมปลายน้ำ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากกัญชงที่หลากหลาย ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้ง สมุนไพร เครื่องดื่ม อาหารเสริม สุขภาพและความงาม เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่คู่ค้า และเพิ่มทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีกว่าให้แก่ผู้บริโภค

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้